หน้าเว็บ

หน่วยที่ 9 อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน

   
 วัตถุประสงค์ของอาชีวอนามัย
          งานอาชีวอนามัยเป็นการปรับสภาพงานให้เหมาะสมกับมนุษย์และจัดบุคคลให้เหมาะสมกับงานที่ตนถนัดและรับผิดชอบ ซึ่งงานอาชีวอนามัยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญดังนี้
     1. เพื่อส่งเสริมและรักษาสุขภาพทางกาย ทางใจ และการมีชีวิตเป็นปกติในสังคมของคนงานทุกอาชีพ
     2. เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพของคนงาน
    3. เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพทั่วไปจากสภาพการทำงานของคนงาน
    4. เพื่อปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมเอื้อต่อการทำงานทั้งร่างกายและจิตใจของคนงาน


รูปที่ 9.1 การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

      องค์ประกอบของอาชีวอนามัย
      งานอาชีวอนามัยมีองค์การประกอบที่สำคัญ ดังนี้
     1. คน
          ในด้านคนที่ปฎิบัติงานทั้งหลายย่อมมีความแตกต่างกันอย่างหลากหลาย เช่น กรรมพันธุ์สภาพร่างกาย อารมณ์ เป็นต้น
      2. กระบวนการผลิต มีส่วนเกี่ยวข้อง 2 ส่วน คือ 
          1. วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต อาจจะเป็นพิษต่อสุขภาพได้
          2. วิธีการผลิต อาจมีอันตรายในการทำงานเกิดขึ้นได้
      3. เครื่องมือ
          มีทั้งเครื่องจักร เครื่องยนต์ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น รถบรรทุก เครื่องตัด เครื่องยก ฯลฯ
      4. สิ่งแวดล้อมในการทำงาน มีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้
          1. สิ่งแวดล้อมทางเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง ควัน สารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ เป็นต้น
          2. สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย หนู แมลงต่างๆ เป็นต้น
          3. สิ่งแวดล้อมด้านจิตใจ เช่น ความสกปรก ทัศนียภาพ เป็นต้น
          4. สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น เสียง ความร้อน รังสี ฯลฯ
      
ขอบเขตของอาชีวอนามัย
      ขอบเขตของอาชีวอนามัย มีดังนี้
          1. ป้องกันและรักษาอุบัติภัยจากการทำงานในอาชีพ
          2. ป้องกันและรักษาโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ
          3. การจัดบริการสุขภาพแก่คนงาน
          4. ส่งเสริมสุขภาพจิตในการทำงาน
          5. จัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงานเพื่อป้องกันอันตราย
          6. ฟื้นฟูสุขภาพผู้รับบาดเจ็บจากการทำงาน
          7. ป้องกันการเจ็บป่วยและส่งเสริมสุขภาพของคนงานโดยรวม
           
     ความหมายของความปลอดภัย
     มีนักวิชาการได้ให้ความหมายของความปลอดภัยไว้ ดังนี้
     พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ 2542 กล่าวว่า ความปลอดภัย คือ พ้นภัย
     เฉิดศักดิ์ สืบทรัพย์ (2555  :  23) กำหนดว่า ความปลอดภัย หมายถึง การปราศจากภัย รวมถึงปราศจากอันตรายที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น
     สรุป ความปลอดภัย หมายถึง การพ้นหรือปราศจากสิ่งที่เป็นอันตรายต่าง ๆ ทั้งจากโรคและจากอุบัติภัย


รูปที่ 9.2 ป้ายความปลอดภัยต่างๆ

   
    ความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงาน
    การทำงานที่มีความระมัดระวังจะทำให้มีความปลอดภัย ซึ่งเกิดประโยชน์หลายประการ ดังนี้
    1. ต้นทุนการผลิตลดลง
        เมื่อการเกิดอุบัติเหตุลดลง ความสูญเสียหรือค่าใช้จ่ายสำหรับอุบัติเหตุก็น้อยลง โรงงานสามารถประหยัดเงินค่ารักษาพยาบาล ค่าเงินเข้ากองทุนทดแทน เป็นต้น
    2. ผลผลิตเพิ่งขึ้น
        การทำงานอย่างปลอดภัยทำให้คนงานมีขวัญและกำลังใจทำงานได้เต็มที่ รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น
    3. กำไรมากขึ้น
        เนื่องจากต้นทุนลดลงและผลผลิตเพิ่ม เป็นเหตุให้โรงงานได้กำไรมาขึ้น เนื่องจาก กำไร = รายได้ - รายจ่าย
    4. รักษาทรัพยากรมนุษย์
        การทำให้สภาพการทำงานมีความปลอดภัย เป็นการลดการเกิดอุบัติเหตุ ส่งผลให้คนงานได้รับบาดเจ็บหรือตายน้อยลง จึงเป็นการสงวนรักษาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของชาติไว้ได้
    5. จูงใจให้คนอยากทำงานมากขึ้น
        เนื่องจากมีความปลอดภัยในการทำงานและดำรงชีวิตซึ่งสอดคล้องตามทฤษฎีการจูงใจของมาสโลว์ (Maslow Motivation Theory)

   กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานของประเทศไทย

       พ.ศ 2470 ได้มีการจัดตั้งคณะพิจารณากฎหมายอุตสาหกรรม เพื่อคุมครองความปลอดภัยของคนงาน
       พ.ศ 2471 ประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน
      พ.ศ 2477 ประกาศใช้พระราชบัญญัติสาธารณสุข
      พ.ศ 2482 ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ 2482 ได้กำหนดเงื่อนไขการขอตั้งและประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับการรักษาความสะอาด ความปลอดภัยในการทำงาน ความปลอดภัยในการติดตั้งเรื่องจักร อุปกรณ์ ตลอดจนไฟฟ้า การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด
      พ.ศ 2484 ประก่ศใช้พระราชบัญญัติสาธารณสุข โดยเพิ่มเติมในบทบัญญ้ติเกี่ยวกับแสงสว่างการระบายอากาศ น้ำดื่ม ห้องน้ำ และสุขภัณฑ์
      พ.ศ 2499 ประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร
      พ.ศ 2503 ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ 2503
      พ.ศ 2510 ประกาศใช้พระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ 2510 และมีการแก่ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ 2516
     พ.ศ 2512 ต่อมาได้แก่ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ 2518 และฉบับที่ 3 พ.ศ 2552
     พ.ศ 2515 ประกาศใช้ ประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 เพื่อเป็นกฎหมายคุ้มครองสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง
     พ.ศ 2525 รัฐบาบได้จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
     พ.ศ 2526 จัดตั้งสถานบันความปลอดภัย โดยกรมแรงงานกระทรวงมหาดไทย
     พ.ศ 2528 กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งระบุว่านายจ้างมีลูกจ้างในสถานประกอบการ 100 คนขึ้นไป จะต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (Safety Officer) 
    พ.ศ 2535 ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ 2535 แทนพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ 2512 ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการอนุญาตโรงงาน ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยมลพิษและสิ่งแวดล้อม รวมถึงบทลงโทษ 
       - ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง เช่น 
1. เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร
2. เรื่องความปลอดภัยในการทำงานที่เกี่ยวกับไฟฟ้า
3. เรื่องความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างว่าด้วยนั่งร้าน
4. เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่น
5. เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่วกับสารเคมีอันตราย
     - พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดรายละเอียดที่สำคัญในการคุ้มครองแรงงานให้มีความปลอดภัยในการทำงาน ดังนี้
1. เวลาทำงานปกติไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน
2. เวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง/วัน หลังจากทำงานไม่เกิน 5 ชั่วโมง
3. วันหยุดไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์
4. วันลา ลาป่วย ได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์
5. ห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง
6. สถานที่ห้ามลูกจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงาน
     - กฎหมายกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) ออกตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้งานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง ต้องจัดให้มีการป้องกันที่ตัวบุคคล ได้แก่
1. งานที่ต้องทำใต้ดิน ในถ้ำ ในอุโมงค์ หรือในที่อับอากาศ
2. งานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี
3. งานเชื่อมโลหะ
4. งานขนส่งวัตถุอันตราย
5. งานผลิตสารเคมีอันตราย
6. งานที่ต้องทำด้วยเครื่องมือหรืิอเครื่องจักร
7. งานที่ต้องทำเกี่ยวกับความร้อนจัดหรือเย็นจัดอันอาจเป็นอันตราย

   วิธีการทำงานอย่างปลอดภัยในการประกอบอาชีพ

1. กฎเบื้องต้นแห่งความปลอดภัย 10 ประการ
    1. ช่วยกันรักษาความสะอาดและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
    2. ปรับปรุงแก้ไขสภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัย
    3. ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
    4. รายงานการบาดเจ็บและการปฐมพยาบาล
    5. ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ให้ถูกต้องปลอดภัย
    6. การใช้ การปรับ ซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ต้องเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น
    7. การยกสิ่งของหนักควรช่วยกันยกหลายๆ คน
    8. ห้ามหยอกล้อหรือเล่นกันในขณะทำงาน
    9. ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายในการปฏิบัติงานให้เหมาะสม
    10. ปฏิบัติตามกฎหรือสัญลักษณ์ของความปลอดภัย
2. ความปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายวัสดุ มีวิธีการดังนี้ 
1. การเคลื่อนย้ายด้วยมือ ต้องพิจารณาจากสิ่งของที่จะทำการเคลื่อนย้ายโดยใช้มือยก
2. การเคลื่อนย้ายด้วยเครื่องจักร สามารถพิจารณาได้จาก
            (1) เรื่องจักรหรือรถต้องมีหลังคาและอุปกรณ์ในการควบคุม
            (2) ใช้รถให้เหมาะสมกับลักษณะงาน
            (3) ด้านผู้ขับขี่ต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
3. ความปลอดภัยในการเชื่อมโลหะ มีวิธีการดังนี้
    1. ใช้หน้ากากป้องกันแสงที่เกิดจากการเชื่อมโลหะ
    2. ควรสวมรองเท้านิรภัยในขณะทำงานเชื่อม
    3. ควรสวมเสื้อผ้าอย่างมิดชิดในขณะทำการเชื่อม
    4. ควรสวมถุงมือในขณะที่ทำการเชื่อม
    5. ควรสวมหน้ากากเพื่อป้องกันแสง รังสี และสะเก็ตไฟ
4. ความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า มีวิธีการดังนี้
    1. ต้องมีสวิตซ์ตัดตอนไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ
    2. อุปกรณ์ไฟฟ้าควรมีการต่อสายดิน
    3. ต้องมีฟิวส์ป้องกันการใช้กระแสไฟฟ้าเกิน
    4. การใช้งานเต้าเสียบไม่ควรต่อออกไปใช้งานมากเกินไป
    5. สายไฟฟ้าที่ต่อจากเต้าเสียบไม่มีการชำรุด
    6. ต้องมีการตรวจสอบระบบไฟฟ้าจากผู้เชี่ยวชาญ

กิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน

   กิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน
   เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยแก่ลูกจ้างอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นไปตามนโยบายและแผนดำเนินงานของสถานประกอบการนั้น กิจกรรมต่างๆ มีดังนี้
1. การจัดนิทรรศการ
    การจัดนิทรรศการเป็นการนำภาพเรื่องราวต่างๆ เช่น นำภาพอุบัติเหตุ สถิติการเกิดอันตราย รวมถึงภาพเหตุการณ์จริงมาจัดแสดงในวันสำคัญ เพื่อให้ลูกจ้างเกิดความตระหนักและมีจิตสำนึกในการทำงานอย่างปลอดภัย
2. การบรรยายพิเศษ
    การบรรยายพิเศษเป็นการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้แก่บุคลากรในหน่วยงานอันเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัย
3. การประกวดเกี่ยวกับความปลอดภัย
    ตัวอย่างการประกวดเกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น ประกวดคำขวัญความปลอดภัย ประกวดภาพโปสเตอร์ เป็นต้น
4. การรณรงค์ความปลอดภัย
    การจัดกิจกรรมรณรงค์ความปลอดภัยเพื่อเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันปฏิบัติตามนโยบายของหน่วยงาน
5. การกระจายเสียงบทความ
    การกระจายเสียงบทความเป็นการนำบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยออกเสียงตามสายหรือทางสถานีวิทยุต่างๆ
6. การทัศนะศึกษาในสถานประกอบการอื่น
   การทัศนะศึกษาในสถานประกอบการอื่นเพื่อให้ลูกจ้างได้มีโอกาสไปพบการทำงานในสถานประกอบการที่ดีเด่น
7. การจัดฉายวิดีโอความปลอดภัย
    การจัดฉายวิดีโอความปลอดภัย เป็นกิจกรรมที่จัดไปพร้อมกับนิทรรศการในวันหรือสัปดาห์ความปลอดภัย โดยขอยืมวิดีโอความปลอดภัยจากสถาบันความปลอดภัยในการทำงานหรือศูนย์ความปลอดภัย นำไปฉายให้เจ้าหน้าที่ได้ดู
8. การทำป้ายแสดงสถิติอุบัติเหตุ
     หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสามารถจัดทำแผ่นป้ายขนาดใหญ่แสดงสถิติอุบัติเหตุหรือป้ายประกาศกิจกรรมเกี่ยวกับความปลอดภัยไว้ในที่มองเห็นได้ง่าย
9. ตอบปัญหาชิงรางวัล
    หน่วยงานที่รับผิดชอบอาจจัดให้มีการตอบปัญหาชิงรางวัลในช่วงสัปดาห์ความปลอดภัยของหน่วยงาน วิธีการตอบปัญหาจากเรื่องราวนิทรรศการ หรือแผ่นพับความรู้ที่แจกในงาน
10. การเผยแพร่บทความในวารสาร
       หากหน่วยงานมีการจัดทำวารสารเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ แจกจ่ายแก่บุคลากรและผู้ที่สนใจทั่วไป สามารถนำบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยไปตีพิมพ์ในวารสารเพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น
     กิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยทั้ง 10 ข้อ มีความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงาน เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารและพนักงานมีส่วนร่วม และกระตุ้นจิตสำนึกของพนักงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานได้เป็นอย่างดียิ่งขึ้น


แผนภาพที่ 9.1 กิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน

       มาตรฐานระบบคุณภาพการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO 18000
1. ความหมายและแนวคิดของมาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 18000
        มาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 18000 หรือในประเทศไทย คือ มอก. 18000 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้องค์การหน่วยงานต่างๆ นำไปปฏิบัติ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน ซึ่งมาตรฐานนี้จะครอบคลุมถึงแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพและอุบัติเหตุต่างๆ ต่อผู้ปฏิบัติงานและสังคมโดยรอบ
        อนุกรมมาตรฐาน มอก. 18000 แบ่งออกเป็น 2 ฉบับ ดังนี้
      1. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย : ข้อกำหนดตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 18001-2542 
      2. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย : ข้อแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับหลักการ ระบบ และเทคนิคในทางปฏิบัติตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 18004
2. วัตถุประสงค์ของมาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 18000
    วัตถุประสงค์ของมาตรฐานนี้ กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์การและพัฒนาปรับปรุงระบบให้ดียิ่งจขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆ คือ
      1. ลดความเสี่ยงต่ออันตรายและอุบัติเหตุต่างๆ ของพนักงานและผู้เกี่ยวข้อง
      2. ปรับปรุงการดำเนินงานขององค์การให้เกิดความปลอดภัย
      3. ช่วยสร้างภาพพจน์ความรับผิดชอบขององค์การต่อพนักงานภายในองค์การ
3. ขั้นตอนหลักการในการจัดทำมาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 18000
     ขั้นตอนหลักในการจัดทำระบบการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (มอก. 18000)
      1. การทบทวนสถานะเริ่มต้น องค์การจะต้องพิจารณาทบทวนระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่มีอยู่ในปัจจุบันขององค์การ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดขอบเขตของการนำระบบการจัดการไปใช้
      2. นโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์การจะต้องกำหนดนโยบายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และจัดทำเป็นเอกสาร มอบหมายให้มีการดำเนินการตามนโยบายพร้อมทั้งจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นในการดำเนินการ
     3. การวางแผน มีการชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยง รวมทั้งชี้บ่งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อใ้ในการจัดการทำแผนงานควบคุมความเสี่ยง การวัดผล และการทบทวนระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถจัดสรรทรัพยากรได้ถูกต้องทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร
    4. การนำไปใช้และการปฎิบัติ องค์การต้องนำแผนงานที่กำหนดไว้มาปฎิบัติโดยผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ จัดให้มีการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อให้มีความรู้และความสามารถ ที่เหมาะสมและจำเป็นต้องจัดทำและควบคุมเอกสารให้มีความทันสมัย มีการประชาสัมพันธ์เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนในองค์การตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกัน ให้ความสำคัญร่วมมือกันนำไปใช้ปฎิบัติ พร้อมทั้งควบคุมปฎิบัติให้มั่งใจกิจกรรมดำเนินไปด้วยความปลอดภัยและสอดคล้องกับแผนงานที่วางไว้รวมถึงมีการเตียมความพร้อมสำหรับกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉินขึ้น
    5. การตรวจสอบและแก้ไข ผู้บริหารขององค์การต้องกำหนดให้มีการตรวจติดตามผลการปฎิบัติงานเป็นระยะ ๆ โดยการตรวจประเมิน เพื่อวัดผลการปฎิบัติและหาข้อบกพร่องของระบบ แล้วนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุและทำการแก้ไข แล้วบันทึกไว้เป็นลายลักษณะอักษร
    6. การทบทวนการจัดการ ผู้บริหารระดับสูงขององค์การจะต้องกำหนดให้มีการทบทวนระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จากผลการดำเนินงานผลการตรวจประเมิน รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป นำมาปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและกำหนดแผนงานในเชิงป้องกัน
    
               ประโยชน์ของมาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 18000
     1. ลดต้นทุนในระยะยาว เนื่องจากสามารถควบคุมและลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นต่อความเสียหายทางด้านร่างกายและทรัพย์สิน อาจรวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
     2. เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี พนักงานมีความปลอดภัยในการทำงาน 
     3. สร้างภาพลักษณะที่ดีให้กับองค์การ
     4. พัฒนาบุคลากรให้มีการวางแผน การทำงานเป็นทีม การพัฒนาความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการ ซึ่งมีการวางแผนการปฎิบัติ การตรวจสอบ รวมถึงการแก้ไขข้อบกพร่องและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิพลในการทำงานมากขึ้น
     5. เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย



    

   





            



ไม่มีความคิดเห็น: